วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555


หลักการและทฤษฎีเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษา

ความหมายของปรัชญาการศึกษา มีผู้ให้ความหมายของปรัชญาการศึกษาหลายท่าน ดังนี้

วิจิตร ศรีสอ้าน (2524: 109) กล่าวว่า ปรัชญาการศึกษา คือ จุดมุ่งหมาย ระบบความเชื่อหรือแนวความคิดที่แสดงออกมาในรูปของอุดมการณ์หรืออุดมคติทำนองเดียวกันกับที่ใช้ในความหมายของปรัชญาชีวิตซึ่งหมายถึง อุดมการณ์ของชีวิต อุดมคติของชีวิต แนวทางดำเนินชีวิต กล่าวโดยสรุป ปรัชญาการศึกษาคือ จุดมุ่งหมายของการศึกษา

 ทองปลิว ชมชื่น (2529:120) ปรัชญาการศึกษา คือ เทคนิคการคิดที่จะแสวงหาคำตอบและกำหนดแนวทางในการดำเนินงานทางการศึกษาไม่ว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนหรือการศึกษานอกโรงเรียน เริ่มตั้งแต่การกำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษา ยุทธศาสตร์ทางการศึกษาและการบริหารทางการศึกษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการพัฒนามนุษย์และสังคมอย่างแท้จริงกองส่งเสริมวิทยะฐานะครู กรมการฝึกหัดครู (2530 : 20) ให้ความหมายว่า ปรัชญาการศึกษาเป็นแนวคิด อุดมคติ หรืออุดมการณ์ทางการศึกษา ซึ่งได้กลั่นกรองมาแล้วและจะเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา

 ภิญโญ สาธร (2521: 81) ให้ความหมายของปรัชญาการศึกษาว่าเป็นวิชาที่ว่าด้วยความรู้อันเกี่ยวกับการศึกษาความรู้อันเกี่ยวกับการศึกษานั้น หมายถึง วัตถุประสงค์ของการศึกษาเนื้อหาวิชาที่ให้ศึกษาและวิธีการให้ศึกษา

จุดมุ่งหมายของการศึกษา

การศึกษาต้องมุ่งพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ พัฒนาศักยภาพของผู้เรียน มุ่งสร้างปัญญา และคุณธรรมของชีวิตเพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตเพื่อตนเอง พึ่งพาตนเองได้

 

 

จิตวิทยาการเรียนรู้

-   ทฤษฎีการเรียนรู้ที่นำมาใช้ในด้านการศึกษา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น อาจสรุปได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

            -    กลุ่มที่มีความเชื่อในเรื่องพฤติกรรม หรือกลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorists)

            -    กลุ่มที่มีความเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการทำงานของจิตและสติปัญญา หรือกลุ่มปัญญานิยม (Cognitivists)

            -    กลุ่มทฤษฎีการสร้างความรู้ (Constructivists)

ทฤษฎีการเรียนรู้ตามแนวคิดพฤติกรรมศาสตร์ (Behaviorists)

             สกินเนอร์ (B. F. Skinner) เป็นผู้นำ ซึ่งได้ทำการศึกษาทดลองกับสัตว์ในเรื่องของพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า (Stimulus-Response : S-R Theory) โดยถือว่า การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เมื่อใดที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ ถือว่าเกิดการเรียนรู้ขึ้น

             ทฤษฎีนี้จึงมีการกำหนดจุดประสงค์การเรียนการสอนเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ และถือว่าพื้นฐานของการเรียนรู้ จะมี 3 ลักษณะ คือ

              1. การเรียนรู้ในเรื่องที่ซับซ้อนสามารถจำแนกออกมาเรียนรู้เป็นส่วนย่อยได้

             2. ผู้เรียนเรียนรู้จากการรับรู้และประสบการณ์

             3. ความรู้คือ การสะสมข้อเท็จจริง และทักษะต่างๆ

             การเรียนรู้ตามแนวคิดนี้จึงถือว่า การเรียนรู้เป็นการรู้สาระเนื้อหา ข้อเท็จจริง หลักการ และทฤษฎี การเรียนการสอน จึงเน้นเรื่องการใช้ตำราเรียนและมุ่งให้ผู้เรียนจำเนื้อหา และข้อเท็จจริงที่ไม่จำเป็นต้องมีความต่อเนื่องสัมพันธ์กัน

ตามแนวคิดนี้การเรียนรู้จะมีลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ

             1. ผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมในการเรียน

             2. ผลป้อนกลับ (Feedback) ต้องเกิดขึ้นทันที เช่น ครูต้องบอกว่าตอบถูกหรือผิด

             3. แต่ละขั้นตอนของการเรียนรู้ต้องสั้นไม่ต่อเนื่องยืดยาว

             4. การเรียนรู้ (การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม) ต้องมีการให้รางวัล และเสริมแรง

ทฤษฎีการเรียนรู้ตามแนวคิดปัญญานิยม (Cognitivists)

             ตามทฤษฎีนี้เชื่อว่า ความจริง (Truth) หรือความรู้มีอยู่จริงในโลกหรือในจักรวาล ถ้าเราพบสิ่งใดสิ่งหนึ่งหนึ่งเราก็จะพบไปเรื่อยๆ

             ทฤษฎีนี้จึงถือว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการของจิตที่ต้องมีการรับรู้จากการกระทำ มีการแปลความ ตีความ การให้เหตุผลจนเกิดรู้สำนึก และสะสมเป็นความรู้ในที่สุด

             หลักการตามแนวคิดนี้คือที่มาของการเรียนการสอนแบบสืบหาความรู้ (Enquiry) ที่ถือว่าผู้เรียนไม่มีความรู้มาก่อน ผู้เรียนจะเกิดความรู้ได้ต้องดำเนินการสืบหา (Enquire) จนได้ความรู้นั้นจุดเน้นของการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดของกลุ่มปัญญานิยมนี้ จึงต้องการ ให้รู้ว่าจะได้รู้อย่างไรมากกว่าการสอน ให้รู้อะไร

             ในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ตามแนวคิดนี้จะให้ผู้เรียนดำเนินการเรียนรู้ด้วยตนเอง และมีบทบาทโดยตรงในการเรียนรู้ (Active Learning) โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตามขั้นตอนดังนี้

             1. เกิดข้อสงสัย คำถาม หรือเกิดปัญหาที่อยากรู้คำตอบ

             2. ออกแบบวางแผนที่จะสำรวจตรวจสอบ

             3. ดำเนินการเก็บข้อมูล ทดลอง สำรวจ หาหลักฐานประจักษ์พยาน

             4. วิเคราะห์ข้อมูล สร้างคำอธิบายที่สอดคล้องกับข้อมูลหรือหลักฐาน

             5. สรุปเป็นความรู้ ขยายและเผยแพร่ความรู้ไปใช้ในสถานการณ์อื่นได้

             แม้กระบวนการวิทยาศาสตร์ดังกล่าวจะได้รับการยอบรับมาก แต่ในทางปฏิบัติ กระบวนการบางส่วนยังขาดหายไป เป็นต้นว่า ขั้นตอนแรกส่วนใหญ่ผู้เรียนไม่ได้เป็นผู้ตั้งปัญหาเอง ส่วนมากจะมีปัญหาไว้ให้เสร็จเรียบร้อย และในขั้นตอนที่ 4 และ 5 ส่วนมากครูผู้สอนหรือหนังสือเรียนจะอธิบายและสรุปไว้ให้ ผู้เรียนจึงมีโอกาสน้อยที่จะได้ฝึกปฏิบัติส่วนนี้

ทฤษฎีการเรียนรู้ตามแนวคอนสตรัคติวิสม์ (Constructivists)

             Constructivism เป็นปรัชญาการศึกษา โดยตั้งอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่าผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งความรู้นี้จะฝังติดอยู่กับคนสร้าง ดังนั้นความรู้ของแต่ละคนเป็นความรู้เฉพาะตัว

            Constructivism เชื่อว่าความจริงอยู่ในหัวสมองของคนมากกว่าที่จะมีที่อยู่ที่อื่น คนสร้างสิ่งที่เรียกว่าความจริงหรืออย่างน้อยก็สร้างความหมายของความจริงขึ้นมาบนพื้นฐานจากประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน

ทฤษฏีการเรียนรู้ตามแนวการสร้างความรู้นี้ จะมีหลักการสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ

             1. การเรียนการสอนควรเริ่มจากต้นที่ผู้เรียน ว่าผู้เรียนรู้หรือสร้างความรู้อะไรมาแล้ว

             2. ความรู้เดิมของผู้เรียนมักเป็นความรู้ที่ไม่ถูกต้อง ครูต้องเปลี่ยนด้วยการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้ที่ถูกต้อง

             3. ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความหมายของความรู้ด้วยตนเอง ไม่มีใครสามารถสร้างความหมายของความรู้หรือประสบการณ์ให้ใครได้ การเรียนรู้จึงเกิดขึ้นจากการที่ผู้เรียนได้รับข้อมูล และข้อเท็จจริง แล้วนำมาสร้างความหมายของตนเอง

 

ทฤษฎีการสื่อสารและการสื่อความหมาย

             การสื่อสาร (communication )คือกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารระหว่างบุคคลต่อบุคคลหรือบุคคลต่อกลุ่ม โดยใช้สัญญลักษณ์ สัญญาน หรือพฤติกรรมที่เข้าใจกัน โดยมีองค์ประกอบดังนี้

             ผู้ส่งสารคือผู้ที่ทำหน้าที่ส่งข้อมูล สารไปยังผู้รับสารโดยผ่านช่องทางที่เรียกว่าสื่อ ถ้าหากเป็นการสื่อสารทางเดียวผู้ส่งจะทำหน้าที่ส่งเพียงประการเดียวแต่ถ้าเป็นการสื่อสาร 2 ทาง ผู้ส่งสารจะเป็นผู้รับในบางครั้งด้วย ผู้ส่งสารจะต้องมีทักษะในการสื่อสาร มีเจตคติต่อตนเอง ต่อเรื่องที่จะส่ง ต้องมีความรู้ในเนื้อหาที่จะส่งและอยู่ในระบบสังคมเดียวกับผู้รับก็จะทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ ข่าวสารในการะบวนการติดต่อสื่อสารก็มีความสำคัญ ข่าวสารที่ดีต้องแปลเป็นรหัส เพื่อสะดวกในการส่งการรับและตีความ เนื้อหาสารของสารและการจัดสารก็จะต้องทำให้การสื่อความหมายง่ายขึ้น  สื่อหรือช่องทางในการรับสารคือ ประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส และตัวกลางที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเช่น สิ่งพิมพ์ กราฟิก สื่ออิเลกทรอนิกส์   ผู้รับสารคือผู้ที่เป็นเป้าหมายของผู้ส่งสาร การสื่อสารจะมีประสิทธิภาพ ผู้รับสารจะต้องมีประสิทธิภาพในการรับรู้ มีเจตคติที่ดีต่อข้อมูลข่าวสาร ต่อผู้ส่งสารและต่อตนเอง

ลักษณะของการสื่อสารแบ่งออกได้ 3 วิธี คือ

             1.1 การสื่อสารด้วยวาจา หรือ "วจนภาษา" (Oral Communication) เช่น การพูด การร้องเพลง เป็นต้น

             1.2 การสื่อสารที่มิใช่วาจา หรือ "อวจนภาษา" (Nonverbal Communication) และการสื่อสารด้วยภาษาเขียน (Written Communication) เช่น การสื่อสารด้วยท่าทาง ภาษามือและตัวหนังสือ เป็นต้น

             1.3 การสื่อสารด้วยการใช้จักษุสัมผัสหรือการเห็น (Visual Communication) เช่น การสื่อสารด้วยภาพ โปสเตอร์ สไลด์ เป็นต้นหรือโดยการใช้สัญลักษณ์และเครื่องหมายต่าง ๆ เช่น ลูกศรชี้ทางเดิน เป็นต้น

ประเภทของการสื่อสาร

แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

             1. การสื่อสารในตนเอง (Intrapersonal or Self-Communication) เป็นการสื่อสารภายในตัวเอง หมายถึง บุคคลผู้นั้นเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับในขณะเดียวกัน เช่น การเขียนและอ่านหนังสือ เป็นต้น

             2. การสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication) เป็นการสื่อสารระหว่างคน 2 คน เช่น การสนทนา หรือการโต้ตอบจดหมายระหว่างกัน เป็นต้น

             3. การสื่อสารแบบกลุ่มชน (Group Communication) เป็นการสื่อสารระหว่างบุคคลกับกลุ่มชนซึ่งประกอบด้วยคนจำนวนมาก เช่น การสอนในห้องเรียนระหว่างครูเพียงคนเดียวกับนักเรียนทั้งห้อง หรือระหว่างกลุ่มชนกับบุคคล เช่น กลุ่มชนมาร่วมกันฟังคำปราศรัยหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น

             4. การสื่อสารมวลชน (Mass Communication) เป็นการสื่อสารโดยการอาศัยสื่อมวลชนประเภทวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เช่น นิตรสาร หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ แผ่นโปสเตอร์ ฯลฯ เพื่อการติดต่อไปยังผู้รับสารจำนวนมากซึ่งเป็นมวลชนให้ได้รับข้อมูลข่าวสารเดียวกันในเวลาพร้อม ๆ หรือไล่เรี่ยกัน

กระบวนการสื่อสาร (Communication Process)

             หมายถึงการส่งสารจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบการสื่อสารขั้นต้น วิธีที่ใช้มากที่สุด คือ การพูด การฟัง และการใช้กิริยาท่าทาง

องค์ประกอบของการสื่อสาร

             1. ผู้ส่ง ผู้สื่อสาร หรือต้นแหล่งของการส่ง (Sender, Communicatior or Source) เป็นแหล่งหรือผู้ที่นำข่าวสารเรื่องราว แนวความคิด ความรู้ ตลอดจนเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อส่งไปยังผู้รับซึ่งอาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มชนก็ได้ ผู้ส่งนี้จะเป็นบุคคลเพียงคนเดียว กลุ่มบุคคลหรือสถาบัน โดยอยู่ในลักษณะต่าง ๆ ได้หลายอย่าง

             2. เนื้อหาเรื่องราว (Message) ได้แก่ เนื้อหาของสารหรือเรื่องราวที่ส่งออกมา เช่น ความรู้ ความคิด ข่าวสาร บทเพลง ข้อเขียน ภาพ ฯลฯ เพื่อให้ผู้รับรับข้อมูลเหล่านี้

             3. สื่อหรือช่องทางในการนำสาร (Media or Channel) หมายถึง ตัวกลางที่ช่วยถ่ายทอดแนวความคิด เหตุการณ์ เรื่อราวต่าง ๆ ที่ผู้ส่งต้องการให้ไปถึงผู้รับ

             4. ผู้รับหรือกลุ่มเป้าหมาย (Receiver or Target Audience) ได้แก่ ผู้รับเนื้อหาเรื่องราวจากแหล่งหรือที่ผู้ส่งส่งมา ผู้รับนี้อาจเป็นบุคคล กลุ่มชน หรือสถาบันก็ได้

             5. ผล (Effect) หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ส่งส่งเรื่องราวไปยังผู้รับ ผลที่เกิดขึ้นคือ การที่ผู้รับอาจมีความเข้าใจหรือไม่รู้เรื่อง ยอมรับหรือปฏิเสธ พอใจหรือโกรธ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นผลของการสื่อสาร และจะเป็นผลสืบเนื่องต่อไปว่าการสื่อสารนั้นจะสามารถบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายหรือไม่ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้รับ สื่อที่ใช้ และสถานการณ์ในการสื่อสารเป็นสำคัญด้วย

             6. ปฏิกิริยาสนองกลับ (Feedback) เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องจากผลซึ่งผู้รับส่งกลับมายังผู้ส่งโดยผู้รับอาจแสดงอาการให้เห็น เช่น ง่วงนอน ปรบมือ ยิ้ม พยักหน้า การพูดโต้ตอบ หรือการแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นข้อมูลที่ทำให้ผู้ส่งทราบว่า ผู้รับมีความพอใจหรือมีความเข้าใจในความหมายที่ส่งไปหรือไม่ปฏิกิริยาสนองกลับนี้คือข้อมูลย้อนกลับอันเกิดจากการตอบสนองของผู้รับที่ส่งกลับไปยังผู้ส่งนั่นเอง